งานวิจัยด้านไบโอเทค (Biotechnology Research)

มีความสำคัญอย่างไรต่ออุตสาหกรรมความงามและเครื่องสำอาง

ในหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมความงามสูงติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรมความงามจะมีมูลค่าสูงถึง 2.8 แสนล้าน ในปี 2561 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดความงามอยู่ในอันดับที่ 17 ของโลก และถือเป็นอันดับที่ 1 ในภูมิภาคอาเซียน แต่ในการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ยังคงมีปัญหาภายในที่ยังคงถูกมองข้าม ซึ่งในระยะยาวอุตสาหกรรมความงามของประเทศไทย ยังคงมีช่องว่างในการพัฒนาอีกอย่างมากเช่นกัน

ปัญหาในอุตสาหกรรมความงามประเทศไทย

ปัญหาในอุตสาหกรรมความงามประเทศไทย (Cosmetic Industry Problems) ที่ได้กล่าวมาข้างต้นแบ่งออกมาได้เป็น 2 ส่วนคือ

  1. ปัญหาการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเครื่องสำอางผ่านคนกลาง
  2. ปัญหาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า

ปัญหาการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเครื่องสำอางผ่านคนกลาง

ปัญหาการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเครื่องสำอางผ่านคนกลาง โดยโครงสร้างของการผลิตเครื่องสำอางจะมีองค์ประกอบดังนี้คือ

  1. เบสหรือสารก่อเนื้อ (Base)
  2. สารออกฤทธิ์ให้เกิดผลลัพธ์ (Active Ingredients)
  3. สี (Colorants)
  4. น้ำหอม (Perfume)
  5. สารกันเสีย (Preservatives)

ซึ่งในปัจจุบันยังมีผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศไทยเพียงจำนวนน้อยราย เมื่อเทียบกับปริมานความต้องการวัตถุดิบเครื่องสำอางและจำนวนผู้ผลิตเครื่องสำอาง ทำให้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าผ่านบริษัทตัวกลาง (Trader) เป็นจำนวนมาก จากประสบการณ์ของการเป็นผู้ผลิตของผู้เขียนสามารถที่จะสรุปได้ว่า ปัจจัยที่เป็นต้นทุนหลักของสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะมีทั้งในส่วนของ สารก่อเนื้อและสารออกฤทธิ์ ดังกล่าว ในขณะเดียวกันที่เรายังคงพึ่งพาการนำเข้าสารสำคัญจากต่างประเทศเป็นหลักผ่านคนกลาง ส่งผลให้สารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ที่ถูกนำเข้ามา ถูกนำเสนอไปยังโรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางเป็นวงกว้าง และยังถูกนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเหมือนกัน และส่งต่อไปยังเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางจำนวนมาก เมื่อสินค้าที่ถูกพัฒนาออกมาจากวัตถุดิบหรือสาระสำคัญแบบเดียวกัน ถูกวางจำหน่ายในตลาดเดียวกัน จึงทำให้เกิดการแข่งขันและขาดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ กลายเป็นสินค้ามีอายุผลิตภัณฑ์สั้น (Short Product Life Cycle) ที่ต้องฟาดฟันกันในตลาด ทั้งการแข่งขันในเรื่องราคา การทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่ทำให้ดังชั่ววูบ และหายไปในระยะเวลาอันสั้นเช่นกัน

ปัญหาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า

ปัญหาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า (Cosmetic Distribution Problem) ในปัจจุบันรูปแบบการจัดจำหน่ายเครื่องสำอางในประเทศไทยถูกแบ่งออกเป็นช่องทางหลัก 3 ช่องทางหลัก คือ 1. ช่องทางการค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) 2. ช่องทางการค้าปลีกแบบสมัยใหม่ (Modern Trade) และ 3. ช่องทางการค้าผ่านระบบออนไลน์​ (Ecommerce) โดยในแต่ละช่องทางมีปัญหาและความท้าทายสำหรับแบรนด์เครื่องสำอางไทยดังต่อไปนี้

ช่องทางการค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade)

  • แบรนด์ต้องพึ่งพาตัวแทนจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้และมีอำนาจการต่อรองต่ำ (Low Power of Bargaining)
  • แบรนด์ไม่สามารถเก็บฐานข้อมูลของตัวแทนจำหน่ายรายย่อย (Reseller Database)
  • แบรนด์ไม่สามารถเก็บฐานข้อมูลของผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้าได้ (Consumer & End User)
  • ปัญหาการขายสินค้าตัดราคาจากตัวแทนจำหน่าย (Price War) ส่งผลให้วงจรอายุของผลิตภัณฑ์สั้น (Short Product Life Cycle)
  • แบรนด์ไม่สามารถนำฐานข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้า

ช่องทางการค้าปลีกแบบสมัยใหม่ (Modern Trade)

  • แบรนด์ไม่มีเงินทุนมากพอเพื่อชำระค่าแรกเข้าในร้านค้าในกลุ่ม Modern Trade
  • แบรนด์ถูกเอาเปรียบจากส่วนแบ่งการค้าที่สูง (Trade Margin) โดยไม่ได้การันตียอดขาย
  • แบรนด์ไม่สามารถเก็บฐานข้อมูลของผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้าได้ (Consumer & End User)
  • แบรนด์ไม่สามารถนำฐานข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้า

ช่องทางการค้าผ่านระบบออนไลน์ (Ecommerce) โดยในแต่ละช่องทาง
มีปัญหาและความท้าทายสำหรับแบรนด์เครื่องสำอางไทยดังต่อไปนี้

  • แบรนด์ยังขาดความรู้ความเข้าใจใน Ecommerce Platform Technology
  • ปัญหาความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายในการพัฒนา Ecommerce Platform ของตัวเองที่มีค่าใช้จ่ายสูง
  • ระบบ Ecommerce Platform ในปัจจุบันยังขาดระบบการบริหารตัวแทนจำหน่ายในระบบออนไลน์
  • ระบบ Ecommerce ในปัจจุบันยังไม่สามารถเป็นช่องทางในการทำรายได้หลักให้กับแบรนด์ขนาดกลางและแบรนด์ขนาดใหญ่ได้

การพัฒนาสารออกฤทธิ์

การพัฒนาสารออกฤทธิ์ (Active Ingredients) ด้วยงานวิจัยด้านไบโอเทคจึงมีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ด้วยข้อได้เปรียบของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น (Tropical Asea) มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) สูงติดอันดับประเทศต้นๆของโลก อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีความพร้อมในเรื่องของอุตสาหกรรมเกษตร และเกษตรแปรรูป ซึ่งในกระบวนการแปรรูปดังกล่าวยังทำให้เกิดของเหลือจากกระบวนการ (By Product) ที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์และเหลือทิ้งอีกเป็นจำนวนมาก

โดยปัจจุบันบริษัทควอลิตี้พลัสฯ และสถาบันผลิตผลเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการลงนามความร่วมมือระดับองค์กรสู่การเป็นพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและการดำเนินการเชิงพาณิชย์ โดยหนึ่งในภารกิจของเรา คือการพัฒนาสารสกัดจากผลิตผลทางการเกษตรและการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับของเหลือจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมเกษตรสู่การเป็นวัตถุดิบมูลค่าสูงเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยและตลาดโลก

การพัฒนาสารออกฤทธิ์

ทำไมต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantages) ให้กับแบรนด์เครื่องสำอางด้วยงานวิจัย ?

ทำไมต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantages) ให้กับแบรนด์เครื่องสำอางด้วยงานวิจัย ?

ประเทศไทยถึงแม้จะมีอัตราการเติบโตในอุตสาหกรรมที่สูง แต่ก็ยังเป็นการเติบโตที่ขาดความมั่นคง เพราะแบรนด์ถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก ฟาดฟันกันด้วยการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการโปรโมทผ่านกลุ่มคนที่มีชื่อเสียง สินค้าที่ไม่ได้มีนวัตกรรม ไม่มีคุณภาพ เมื่อขาดการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องก็ทำให้ผู้บริโภคหมดความสนใจ และทำให้วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์สิ้นสุดไปอย่างรวดเร็ว

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีผลงานวิจัยรองรับจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้แบรนด์เครื่องสำอาง มีความน่าเชื่อถือ มีผลการทดสอบที่น่าเชื่อถือ และส่งผลทางตรงต่อคุณภาพของสินค้าที่เกิดขึ้น และเมื่อเราวิเคราะห์จากองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์จะประกอบไปด้วย

  1. เบสหรือสารก่อเนื้อ (Base)
  2. สารสำคัญ​หรือสารออกฤทธิ์ให้เกิดผลลัพธ์ (Active Ingredients)
  3. สี (Colorants)
  4. น้ำหอม (Perfume)
  5. สารกันเสีย (Preservatives)

ซึ่งหากวิเคราะห์จากโครงสร้างของสูตรผลิตภัณฑ์แล้ว จะพบว่า สาระสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ในเครื่องสำอางนั้น เป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลกับสินค้าใน 3 เรื่องหลักด้วยกันดังนี้

  1. อิทธิพลในด้านที่มาและเรื่องราวของสินค้าและแบรนด์ (Brand/ Product Strory) จะเห็นว่าแบรนด์ระดับโลกหลายๆแบรนด์ในตลาด ส่วนใหญ่มักจะสร้างจุดขายที่มีเรื่องราวของสารสกัด สารสำคัญที่ใช้เป็นองค์ประกอบของสินค้านั้น เช่น สารสกัดที่หายาก สารสกัดที่ผ่านงานวิจัยเชิงลึก สารสกัดที่มีมูลค่าสูงเป็นต้น
  2. อิทธิพลในด้านผลลัพธ์ของผลิตภัณฑ์​ (Product Efficacy) การเลือกสารผสมที่เป็นสารสำคัญ สารสกัดจากพืชหรือจากสัตว์ จะมีผลต่อการใช้ผลิตภัณฑ์ทางตรง หากต้องการผลลัพธ์ในด้านความขาว จำเป็นต้องใช้สารสกัดที่เป็นคุณสมบัติ Anti-Tyrosinase หากต้องการได้ผลลัพธ์ในด้านลดอาการของสิวและลดการอักเสบ จำเป็นต้องใช้สารสกัดที่คุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และช่วยลดอาการอัพเสบของสิว เป็นต้น
  3. อิทธิพลในด้านต้นทุน (Product Cost) สารสำคัญมีให้เราเลือกใช้ในตลาดเป็นจำนวนมาก แต่สารสำคัญที่ให้ผลลัพธ์ชัดเจน ใช้ในปริมาณเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำ ก็จะมีต้นทุนที่ราคาสูง ซึ่งปัจจัยในด้านต้นทุนของสารสำคัญนั้น เรียกได้ว่าเป็นต้นทุนหลักของสูตรผลิตภัณฑ์เลยก็ว่าได้

ฉะนั้นแล้ววิธีการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับแบรนด์สินค้า คือการพัฒนางานวิจัยในเชิงลึก เพื่อให้ได้มาซึ่งสารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ของแบรนด์เอง เพื่อเป็นทรัพย์สินทางปัญหาของเจ้าของแบรนด์ ซึ่งหากสามารถพัฒนาไปถึงระดับการสร้างสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรทางการค้า จะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสูงได้อีกด้วย

ประเมินอย่างไรว่าผลงานวิจัยของเราอยู่ในระดับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

ประเมินอย่างไรว่าผลงานวิจัยของเรา อยู่ในระดับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

เราสามารถใช้เกณฑ์ในการประเมินจาก VRIN Framework ตามรายการดังต่อไปนี้

  1. คุณค่าที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Value) งานวิจัยสารสกัดหรือสาระสำคัญที่ถูกพัฒนาขึ้นมานั้น ช่วยให้คุณค่าที่สร้างความได้เปรียบจากขู่แข่งมากน้อยแค่ไหน
  2. เป็นสิ่งที่พบได้ยาก และคู่แข่งมีสิ่งนั้นในการครอบครองหรือไม่ (Rareness) สารสกัด ส่วนผสมที่ผ่านงานวิจัยของเราเป็นสิ่งที่คู่แข่งมีอยู่ในมือหรือไม่ หากมีอยู่มีจำนวนกี่รายมากน้อยเท่าไหร่
  3. ความยากในการลอกเลียนแบบ (Inimitability) งานวิจัยดังกล่าว สามารถถูกลอกเลียนแบบได้ง่าย หรือมีค่าใช้จ่ายมากแค่ไหนในการพัฒนาให้มีผลลัพธ์และคุณสมบัติแบบเท่าเทียมกันหรือมากกว่า
  4. เป็นสารสกัด หรือส่วนผสมที่สามารถใช้สารอื่นทดแทนได้หรือไม่ (Non-substitution) ผลงานดังกล่าวเป็นสารสกัดหรือส่วนผสมที่ถูกทดแทนด้วยสารอื่นได้ง่ายหรือไม่ กรณีที่มีสารทดแทนได้ เมื่อเปรียบเทียบในเชิงต้นทุน ผลลัพธ์ ความปลอดภัย ผลงานของเราอยู่ในระดับที่เหนือกว่าหรือไม่

ซึ่งหากผลงานวิจัยของเราอยู่ในเกณฑ์เพียง 2-3 ข้อ อาจจะสร้างขีดความสามารถได้ในระยะสั้นเท่านั้น แต่หากผลงานที่เกิดขึ้นอยู่ในเกณฑ์การประเมินทุกข้อ จะถือว่าสามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร สำหรับผลงานวิจัยในด้านสารสกัด และสูตรผลิตภัณฑ์

ในยุคที่มีอัตราการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในระดับสูง เราจะสามารถสร้างความแตกต่างและปกป้องผลงานวิจัยของเราด้วยการจดสิทธิบัตรเพื่อรักษาทรัพย์สินทางปัญญาของเรา ซึ่งจะสามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ตามรายการต่อไปนี้

  • สารสกัดจากธรรมชาติที่ผ่านงานวิจัยไม่สามารถจดเป็นสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรได้
  • กระบวนการสกัดด้วยวิธีปกติผ่านงานวิจัยไม่สามารถจดเป็นสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรได้
  • หากต้องการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรสำหรับงานวิจัย ควรเป็นการพัฒนาเพื่อให้ได้สารสำคัญตัวใหม่ เช่น การนำสารสกัดตั้งแต่ 2 รายการขึ้นไป มาทำการวิจัยโดยแนะนำว่าต้องเป็นส่วนผสมที่ส่งเสริมให้ผลลัพธ์ดีขึ้น มีความเสถียรมากขึ้น หรือให้ความรู้สึกหลังใช้ที่ดีเพิ่มขึ้น
  • หากต้องการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรสำหรับงานวิจัยในด้านกระบวนการใหม่ เพื่อให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเราเอง ต้องหาข้อพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นกระบวนการใหม่ที่คิดค้นโดยเราและไม่เหมือนกับกระบวนการเดิมที่มีอยู่
  • สูตรเครื่องสำอางที่จำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาดหรือโรงงานรับจ้างผลิตเครื่องสำอาง มักไม่จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญหา
  • สำหรับสูตรเครื่องสำอางที่มีการคิดค้นและพัฒนาและให้ผลลัพธ์ที่ดี รวมไปถึงมีคุณสมบัติเด่นเฉพาะตัว สามารถที่จะจดอนุสิทธิบัตร เพื่อทำการคุ้มครองผลงาน หรือสร้างหลักฐานเพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของได้
  • อีกหนึ่งทางเลือกของแบรนด์ที่ต้องการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการจดคุ้มครอง เครื่องหมายการค้า

แบรนด์เครื่องสำอางที่มีการจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว สามารถนำผลงานไปใช้ประโยชน์ได้ดังนี้

  1. สร้างความน่าเชื่อถือและมีหลักฐานยืนยันการคุ้มครองสิทธิ์โดยชอบธรรม
  2. เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลังเมื่อต้องเข้าสู่สมรภูมิทางการตลาด ทั้งในและต่างประเทศ
  3. เมื่อก้าวสู่เวทีการแข่งขันในระดับประเทศและระดับโลก สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร จะเป็นตัวแปรสำคัญให้ผู้เข้าร่วมประกวดได้รับการยอมรับจากผู้ประเมิน

ป้องกันการลอกเลียนแบบ การดัดแปลง ทำซ้ำ ซึ่งสามารถเอาผิดทางกฎหมายได้